อีกหนึ่งแรงบันดาลใจ ฮง เซียนหุ้นอัจฉริยะ

เซียนหุ้นอัจฉริยะวัย 25 ‘สถาพร งามเรืองพงศ์’

อายุเพียง 25 ปี ‘ฮง’ เด็กหนุ่มที่พ่อแม่ค้าเสื้อยืดย่านพระราม 2 เล่นหุ้นตั้งแต่เรียนปี 1 ‘ม.กรุงเทพ’ ปั่นเงินจาก ‘หลักแสน’ เพิ่มเป็น ‘หลายสิบล้าน’ ภายใน 7 ปี..ฝันอีก ‘สิบปี’ พอร์ตแตะ 300 ล้านบาท

“ฮง” สถาพร งามเรืองพงศ์ ชื่อนี้แทบไม่เป็นที่รู้จักในวงการตลาดหุ้น แต่ถ้าเอ่ยนามแฝง “ฮงแวลู” (Hongvalue) เซียนหุ้น “วัยรุ่น” รายนี้เป็นที่รู้จักอย่างดีในเว็บบอร์ด Thaivi.com ที่วันนี้เริ่มอัพเกรดตัวเองไปเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องหุ้นให้กับนักลงทุนกลุ่มเล็กๆ หลังชีวิตการลงทุนตลอด 7 ปีประสบความสำเร็จอย่างงดงามมีพอร์ตลงทุน “เกือบร้อยล้านบาท”

ตี๋หนุ่มวัยเพียง 25 ปีรายนี้เลือกเดินในอาชีพ “นักเล่นหุ้น” อย่างแน่วแน่ และกำลัง “ป็อปปูล่า” วัดความดังได้จากงานสัมมนาเล็กๆ ที่ฮงและก๊วนเพื่อนร่วมกันแชร์ประสบการณ์ในช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ (ซับไพร์ม) ปี 2551 ที่เขาได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนสูงถึง 10 เท่าตัวหากรู้จักเลือกลงทุนหุ้นพื้นฐาน เปิดให้จองที่นั่งเข้าฟังบรรยายเพียงไม่กี่ชั่วโมงมีนักลงทุนรายเล็กรายใหญ่ แห่จองกันเต็ม 230 ที่นั่ง

หลังจบงานสัมมนามีคนตามทวิตเตอร์ของ Hongvalue เพิ่มขึ้นกว่า 100 คน เขายกตัวอย่างหุ้นที่เคยทำเงินเข้ากระเป๋าได้อย่าง “มหาศาล” ในช่วงหลังวิกฤติปี 2551 นั่นคือ หุ้นเจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) และหุ้นโพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) (PTL) รวมถึงหุ้นอีกหลายตัวที่ทะยานขึ้นอย่างมาก

ตี๋หนุ่มคุยว่าพอร์ตลงทุนของตัวเองเติบโตก้าวกระโดดในช่วงไม่กี่ปีมานี้ และเริ่มเป็นที่รู้จักในแวดวง Value Investor มากขึ้นหลังสร้างผลตอบแทนเพิ่มขึ้นประมาณ 20 เท่า ภายในระยะเวลา 2 ปี ขณะเดียวกันถ้าวัดตั้งแต่เริ่มลงทุนปี 2547-2553 ภายในระยะเวลา 7 ปี พอร์ตลงทุนขยายตัวประมาณ 40-50 เท่า

“ฮง” เซียนหุ้นอัจฉริยะรายนี้เป็นลูกคนสุดท้องจากพี่น้องทั้งหมด 3 คน เขาเล่าว่า พี่ชายคนโตปัจจุบันอายุ 33 ปีคนนี้ก็เล่นหุ้นเหมือนกันแต่มูลค่าพอร์ตลงทุนยังไม่ใหญ่ประมาณ 3 ล้านบาท พี่ชายจะเน้นดูเทคนิเคิลมากกว่าปัจจัยพื้นฐาน ส่วนพี่สาวคนรองอายุ 29 ปี เรียนจบแพทย์ ปัจจุบันเดินทางไปศึกษาต่อเป็นแพทย์เฉพาะทาง สาขาช่องท้อง ที่สหรัฐอเมริกา

ฮงกล่าว่าครอบครัวไม่ได้ร่ำรวยมีฐานะพอกินพอใช้ พ่อแม่ทำธุรกิจผลิตเสื้อยืดขายย่านถนนพระราม 2 มานานกว่า 20 ปี เพิ่งเลิกทำไปเมื่อต้นปี 2554 นี้เอง และหันไปปลูกต้นลีลาวดีขาย ชื่อว่า “สวนลีลาวดีภิรมย์” บนเนื้อที่ 33 ไร่ ย่านบางขุนเทียน

ประสบการณ์เล่นหุ้นครั้งแรกของฮงต้อง “แอบพ่อ” ที่ไม่อยากให้ลูกชายเข้าไปข้องแวะกับตลาดหุ้น โดยเริ่มลงทุนครั้งแรกในชีวิตเมื่อปลายปี 2547 ช่วงนั้นเรียนอยู่ปี 1 คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มีเงินลงทุนก้อนแรก 100,000 บาท เป็นเงิน “แต๊ะเอีย” ที่เก็บสะสมมาจากญาติๆให้แต่ละปีรวมกับเงินเก็บ เงินเก็บก้อนนี้ถูกพ่อแม่บังคับให้เอาไปเข้าธนาคารกลัวลูกเอาไปซื้อเกมส์มาเล่น

สำหรับผู้ที่จุดประกายให้ฮงเข้าสู่ตลาดหุ้นไม่ใช่ใครที่ไหนแต่เป็นเพื่อนสมัยเรียนมัธยมมาด้วยกัน เห็นเพื่อนซื้อหุ้น SHIN ที่ต้นทุนหุ้นละ 26-27 บาท ไปขายตอนราคา 40 บาท ได้กำไรประมาณ 50% ภายในระยะเวลาไม่กี่เดือนจากคำแนะนำของญาติ ทำให้เด็กหนุ่มมีความฝันอยากได้กำไรอย่างเพื่อนคนนั้นบ้าง

แม้วันนี้พอร์ตลงทุนของฮงจะเติบโตขึ้นอย่างมากจากเมื่อ 7 ปีก่อน จากหลัก “แสนบาท” เป็นหลัก “สิบล้านบาท” แต่นั่นยังไม่ใช่เป้าหมาย

“ภายใน 10 ปีข้างหน้า (2554-2563) ผมต้องการมีมูลค่าการลงทุนสูงถึง 300 ล้านบาท เติบโตให้ได้เฉลี่ยปีละ 20% นี่คือเป้าหมายของผม” สถาพร กล่าวกับทีมงาน กรุงเทพธุรกิจ BizWeek โดยมั่นใจว่าตัวเลขนี้ทำได้แน่นอน ทุกวันนี้ฮงเป็นนักลงทุน Full Time หลังค้นพบว่าการเล่นหุ้นเป็นทางเดินชีวิตที่มาถูกทาง

“แม้ผมจะอายุยังน้อยในสายตาใครต่อใคร แต่ก็ผ่านวิกฤติเศรษฐกิจและวิกฤติการเงิน (ซับไพร์ม) มาแล้ว เรียกได้ว่าผ่านมาแล้วทุกบรรยากาศ แล้วก็ทำได้ดีด้วย” เขาไม่ลืม “คุย”

ฮงจัดเป็น “เซียนหุ้นอัจฉริยะ” ที่จับทางตลาดหุ้นออกในเวลาอันรวดเร็ว เขารู้ว่าหุ้นแบบไหนจะขึ้นเยอะ และควรลงทุนสไตล์ไหนถ้าจับถูกตัว

“วันนี้ผมจับจุดถูกรู้ว่าจะลงทุนหุ้นสักหนึ่งตัว ต้องดูอะไรเป็นหลัก ถ้าผมจะพลาดก็ต้องมีเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นเท่านั้น เพราะเหตุการณ์แบบนั้นคงไม่มีใครตั้งตัวขายหุ้นทัน”

การเป็นนักลงทุนที่ประสบความสำเร็จอายุยังน้อยฮงต้องศึกษาทำการบ้านอย่างหนัก เขาศึกษาแนวทางการวิเคราะห์หุ้นแบบ วอร์เรน บัฟเฟตต์ และ ปีเตอร์ ลินช์ อย่างแตกฉาน ทั้ง 2 กูรูยังเป็น “ไอดอล” ที่ฮงฝันอยากเป็น

“ผมคิดว่าคำสอนที่สำคัญที่สุด การซื้อหุ้นคือการซื้อธุรกิจ ถ้าซื้อเพราะคิดว่าราคาหุ้นจะขึ้น รับรองไม่มีทางได้กำไร(รวย)”

ครั้งแรกที่เล่นหุ้นฮงไปเปิดพอร์ตกับบล.ธนชาต ใช้ชื่อตัวเองไม่ได้เพราะยังเด็กเกินไป ต้องใช้ชื่อคุณแม่เป็นคนเปิดพอร์ต เวลาสั่งซื้อขายก็ให้ส่งจดหมายไปที่บ้านญาติเพื่อไม่ให้คุณพ่อรู้ เพราะพ่อมี “อคติ” กับตลาดหุ้นมองว่าการ “เล่นหุ้น” ไม่ต่างอะไรกับ “เล่นการพนัน” ในความเป็นจริงคุณแม่ก็ไม่ชอบให้เล่นหุ้น แต่ทนรบเร้าหาเหตุผลร้อยแปดมาอธิบายไม่ไหว เมื่อเห็นความตั้งใจจริงแม่ก็เลยยอม

“ยอมรับตรงๆ ตอนนั้นไม่รู้เรื่องอะไรเลย ต้องซื้อหุ้นกลุ่มไหน มีวิธีการลงทุนอย่างไร ดูไม่เป็นสักอย่าง ผมเริ่มต้นแสวงหาความรู้ตัวคนเดียว (ชวนเพื่อนแต่เขาไม่ไป) ผมไปนั่งฟังงานสัมมนาฟรีต่างๆ เมื่อก่อนโบรกเกอร์หลายแห่งจะชอบจัดอบรมดูงบการเงินวันเสาร์-อาทิตย์ รู้ว่าที่ไหนมีฟรีผมไปหมด”

เขาเล่าว่า บางงานไม่ให้เข้าเพราะไม่ใช่ลูกค้าเขา ก็ต้องหาเหตุผลสารพัดไปหลอกเจ้าหน้าที่หน้าห้องว่าขอเข้าไปฟังก่อนนะครับ..ถ้าโอเค! เดี๋ยวจะกลับมาเปิดพอร์ตด้วย แต่ก็มีบางงานที่ฮงถูกปฏิเสธกับเหตุผลตื้นๆ แต่เมื่อไปถึงแล้วเขาก็พยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้เข้าไปฟังวิทยากรบรรยาย แถมยังเกาะติดนอกรอบไปขุดไปคุ้ยไขข้อข้องใจให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“เมื่อก่อนผมเจ็บใจมาก ด้วยความที่เรายังเด็กอายุแค่ 20 ปี เวลาไปถามวิทยากรนอกรอบงานสัมมนาต่างๆ เขาเห็นเราเด็กก็มักไม่ยอมตอบ แต่จะหันไปตอบคำถามคนอื่นที่เป็นผู้ใหญ่กว่า ตอนนั้นในหัวผมคิดว่าโลกนี้ไม่มีความยุติธรรม มันทรมานมากช่วงนั้น ไม่รู้จะทำอย่างไร”

ฮงขวนขวายหาหนังสือเกี่ยวกับการลงทุนอ่านมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ในใจเขาคิดว่าต้องอ่านหนังสือเยอะๆ ไปงานสัมมนามากๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ให้ตัวเอง กว่าเขาจะได้ “วิชา” มาทำกำไรอย่างเป็นล่ำเป็นสันในตลาดหุ้นต้องใช้ความทุ่มเท ฮงยังค้นไม่พบความลับการลงทุน 1 ปีครึ่งผ่านไป การลงทุนของเขาไม่ได้กำไรเลยเพราะยังดูงบการเงินไม่เป็น และอ่านอนาคตธุรกิจไม่ออก ตอนนั้นฮงตัดสินใจซื้อหุ้น TTA ADVANC และ TPC

“เท่าที่จำได้ซื้อหุ้น ADVANC ราคา 95 บาท ขาย 105 บาท และซื้อหุ้น TPC ราคา 210 บาท ขายขาดทุน 190 บาท ส่วนหุ้น TTA จำราคาซื้อขายไม่ได้ เมื่อเริ่มดูงบการเงินเป็นนิดหน่อย พอรู้ว่าต้องเลือกบริษัทที่ไม่เป็นหนี้ และมีกระแสเงินสดเยอะๆ ก็เลยซื้อหุ้น CSL จำเหตุผลที่ซื้อและถือยาว 7-8 เดือนได้ว่าเป็นบริษัทที่จ่ายเงินปันผลปีละ 4 ครั้ง แถมมีผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงถึง 8-10% ที่สำคัญเห็นว่าอนาคตกำไรจะเติบโตสูง ตอนนั้นซื้อมา 5-6 บาท พอขึ้นมา 9 บาทก็ขาย ถือเป็นหุ้นตัวแรกที่ได้กำไรเป็นเนื้อเป็นหนังจากการลงทุน”

เมื่อเริ่มเห็นผลงาน (กำไร) และความแน่วแน่ที่จะเดินในอาชีพ “นักเล่นหุ้น” แม่จึง “เพิ่มทุน” ให้อีกหลัก “แสนบาท” เพื่อนำไปลงทุนหุ้น CPALL จำนวน 100,000 หุ้น ต้นทุน 7 บาท พอปลายปี 2551 ก็ขายไปที่ราคา 11 บาท เพราะช่วงนั้นเกิดวิกฤติการเงินโลก (ซับไพร์ม) หุ้นทุกตัวลงหมด แต่หุ้น CPALL ไม่สะทกสะท้าน แต่ฮงกลัวเลยตัดทิ้งไปก่อน “ตอนนั้นผมกลัวติดยอดดอยแล้วลงไม่ได้”

หลังจากนั้นก็คิดจะนำเงินไปซื้อหุ้น PS แต่ภาวะเศรษฐกิจช่วงนั้นไม่ดี ฮงวิเคราะห์ว่าหุ้นพฤกษาจะไม่สามารถขายที่อยู่อาศัยได้ สุดท้ายจึงตัดสินใจ “กำเงินสด” เกิน 5 แสนบาทไว้ในมือ

“ที่แม่ตัดสินใจให้เงินเพิ่มเพราะเห็นว่าผมจริงจังมาก เสาร์-อาทิตย์ไม่เคยอยู่บ้านไปอบรมเกี่ยวกับเรื่องหุ้นตลอด อีกเหตุผลหนึ่งแม่มองว่าที่ผมสนใจการลงทุน ทำให้เราเป็นผู้ใหญ่ขึ้นสามารถคุยกับผู้ใหญ่รู้เรื่อง”

ความมุ่งมั่นศึกษางบการเงินอย่างจริงจัง ฮงเริ่มแตกฉานและมั่นใจในตัวเอง เขากำเงินสดไว้ในมือเพียง 2 เดือน ก็นำไปลงทุนต่อในหุ้น AP และ TOP แต่ยังไม่กล้าเล่นเต็มพอร์ต สาเหตุที่เลือกซื้อ TOP เพราะก่อนหน้านั้นไทยออยล์มีกำไรต่ำมากจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลงฮวบฮาบ และราคาน้ำมันก็ผกผันกับเงินดอลลาร์ เขาวิเคราะห์ว่าเงินดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนตัวราคาน้ำมันก็น่าจะขึ้น จึงคาดว่ากำไรของบริษัทจะต้องพลิกกลับมาดีขึ้นอย่างมาก

พอก้าวเข้าสู่ไตรมาส 3 ปี 2552 ฮงเข้าเก็บหุ้น CPF ตัวนี้ทำให้เขารวยขึ้นอีกขั้น เขาทุ่มเล่นบัญชีเงินสด 100% และอัดมาร์จิ้นอีก 80% เพราะมองว่า CPF ต้องเป็นหุ้น “ป็อกเด้ง” แน่นอน

“ช่วงนั้นผมอัดมาร์จิ้นซื้อหุ้น CPF เต็มแม็ก เพราะกำไรสุทธิไตรมาส 2 ปี 2552 ออกมา 3,249 ล้านบาท มากกว่าทั้งปี 2551 ที่มีกำไรสุทธิ 3,128 ล้านบาท ช่วงนั้นผมประเมินว่าทั้งปี 2552 หุ้น CPF น่าจะมีกำไรสุทธิ 9,000 ล้านบาท ถือเป็นการทำนิวไฮครั้งใหม่ (CPF ประกาศกำไรสุทธิปี 2552 จำนวน 10,190 ล้านบาท) ผมมองว่าธุรกิจเกษตรกำลังอยู่ในช่วงขาขึ้นตามเศรษฐกิจที่เพิ่งเริ่มฟื้นตัว”

อีกอย่างตอนนั้นฮงเช็คราคาขายหมูและไก่เฉลี่ยของปี 2552 ไม่ได้น้อยกว่าปี 2551 แต่ต้นทุนอาหารสัตว์อย่างกากถั่วเหลืงกับข้าวโพดลดลง เพราะคนนำไปทำเป็นพลังงานทดแทนพอราคาน้ำมันตกต่ำความต้องการเอาไปทำพลังงานทดแทน (เอทานอล) หายหมด ซึ่ง CPF ก็รู้เลยตุนกากถั่วเหลืงกับข้าวโพดไว้ แบบนี้จะไม่ให้กำไรเยอะได้อย่างไร

เมื่อผ่านไป 1-2 เดือน ฮงขายหุ้น CPF ได้ราคา 9.60 บาท จากต้นทุนที่ซื้อมา 7.80 บาท เพราะราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้น 5 วันติดกัน เนื่องจากนักลงทุนคิดว่างบไตรมาส 3 ปี 2552 จะขยายตัวต่อเนื่อง ช่วงนั้นโบรกเกอร์เริ่มทยอยออกมาปรับราคาเป้าหมาย CPF แต่ฮงได้กำไรเข้ากระเป๋า 400,000-500,000 บาท มูลค่าพอร์ตลงทุนพุ่งขึ้นเป็น “หลักล้านบาท” แล้ว

“จากนั้นคุณแม่ก็เติมเงิน (เพิ่มทุน) ให้อีกครั้งหลัก “ล้านบาท” คราวนี้มีทุนเยอะทำให้พอร์ตลงทุนขยับเพิ่มขึ้นอีกหลายเท่าตัว หลังจากกำไรหุ้น CPF ก็ไปเข้าหุ้น VNG ตอนนั้นอัดเต็มพอร์ต เพราะเห็นว่างบไตรมาส 4 ปี 2552 มีกำไรต่อหุ้น 0.27 บาท ราคาหุ้นวันนั้น 3 บาท ถ้าวนชัย กรุ๊ป สามารถรักษาระดับกำไรต่อหุ้นได้แบบนี้ เชื่อว่ากำไรต่อหุ้นทั้งปี 2553 จะยืน 1 บาท”

ฮงถือหุ้น VNG แค่ 3 เดือน ขายออกที่ราคา 5 บาท ได้กำไร 70% ทำให้มูลค่าพอร์ตลงทุนของเขาพุ่งขึ้นเป็นหลัก “สิบล้านบาท” เมื่อขายหุ้น VNG เกลี้ยงพอร์ต ก็โยกเงินไปซื้อหุ้น PTL ที่ราคา 7.50 บาท ช่วงเดือนพฤษภาคม 2553 ทยอยสะสมก่อน 30% ของพอร์ต พอราคาหุ้นขึ้นมา 15 บาท คราวนี้อัดเต็ม 100% ของพอร์ต ใช้มาร์จิ้นซื้ออีก 60% รวมเป็น 160% แล้วไปขายออกในเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ราคา 45 บาท

หุ้นโพลีเพล็กซ์ (ประเทศไทย) คือจุดหักเหครั้งสำคัญทำให้ฮงรวยขึ้นมหาศาล “หลายเท่าตัว” พอร์ตของเขาขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น “หลายสิบล้านบาท” ในเวลาเพียงไม่กี่เดือน ฮงบอกกับทีมงานกรุงเทพธุรกิจ BizWeek ว่าปัจจุบันมูลค่าพอร์ตของเขาเท่าไร แต่ขอไม่ให้เปิดเผยตัวเลขกับสาธารณะ

หลังจากที่ประสบความสำเร็จได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ฮงบอกว่าจากนั้นก็ซื้ออะไรไปเรื่อยเปื่อย เช่น หุ้น TVO และหุ้น STA ตอนที่ช้อนหุ้น TVO ราคาเฉลี่ย 27-29 บาท เพราะเห็นว่าราคาถั่วเหลืองในตลาดปรับตัวเพิ่มขึ้น 1,300 เซ็นต์ต่อบุชเชล ภายในเวลา 2 เดือน แต่ถือหุ้นตัวนี้ไม่ถึง 2 เดือน ก็ขายออกในราคา 31 บาทได้กำไรไม่เท่าไร

ส่วนหุ้น STA ซื้อมา 36 บาท เพราะเห็นว่าราคายางพาราทำจุดสูงสุดใหม่ แต่สุดท้ายก็ยอมขายขาดทุน 35 บาท เพราะราคาหุ้นไม่ขยับตัวตามราคายาง “ตัวไหนถือไว้ดูท่าจะไม่รุ่ง ผมจะขายทิ้ง”

จาก “ไอ้ตี๋หนุ่ม” หน้าละอ่อน ถามใครใครก็เมิน วันนี้กลายเป็น “เซียนฮง” อย่างเต็มภาคภูมิ เจ้าตัวก็เลย “ยืด” ได้ (ขอคุยหน่อย) บอกว่าที่จริงไม่ได้เก่งอะไรมากมาย แค่รู้ว่าเล่นหุ้นแบบไหนแล้วได้กำไร หลังจากเป็นเศรษฐีย่อมๆ ภายในเวลาไม่กี่ปี วันนี้ครอบครัวแฮปปี้มากพ่อแม่เปลี่ยนทัศนคติแล้วว่าการเล่นหุ้น “ไม่ใช่การพนัน” แต่เป็น “การลงทุน” ที่ให้ผลตอบแทนอย่างคุ้มค่า

“ผมจะขอยึดอาชีพนักลงทุนเลี้ยงตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่คิดไปทำงานอย่างอื่น แต่ถ้ามีเงินตามเป้าหมายอาจแบ่งมาลงทุนทำอพาร์ทเม้นท์ให้เช่า เท่านี้ชีวิตผมก็มีความสุขแล้ว”

———————————————————————————
ทฤษฎีลงทุน 10 เด้ง
———————————————————————————
เจาะลึกเทคนิคลงทุน ‘เซียนหุ้นวัยเบญจเพส’ เจ้าของพอร์ตหลายสิบล้านบาท ‘ฮง’ สถาพร งามเรืองพงศ์ เล่นหุ้นให้ ‘รวย’ ต้องดูพื้นฐาน 70% เทคนิค 30%

ฮงคุยว่าเงินลงทุนของเขาเพิ่มขึ้นราวๆ 20 เท่า ภายในระยะเวลา 2 ปี (2552-2553) ขณะที่พอร์ตลงทุนขยายตัวประมาณ 40-50 เท่า ภายในเวลา 7 ปี (2547-2553) หลังประสบความสำเร็จอย่างแรงฮงพัฒนาตัวเองไปเป็น “วิทยากร” เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุน มีนักลงทุน “รุ่นพี่-รุ่นอา” จองที่นั่งเข้าฟังจำนวนมาก อีกทั้งนามแฝง Hongvalue ก็เป็นที่รู้จักกันอย่างดีใน “เว็บบอร์ด” แวลูอินเวสเตอร์

แม้ฮงแฝงตัวกลมกลืนกับแวลูอินเวสเตอร์ (VI) แต่เขาก็นิยามตัวเองเป็น “ลูกครึ่ง Value Investor”

“ผมจะลงทุนกึ่งแวลู จะผสมผสานระหว่างปัจจัยพื้นฐานและการวิเคราะห์ทางเทคนิค ซึ่งต่างจากนักลงทุน Value ทั่วไป แต่วันนี้มีนักลงทุน VI รุ่นใหม่ยึดแนวทางนี้เพิ่มขึ้น เพราะพิสูจน์แล้วว่าใช้ได้ผลดีมาก”

ฮงกล่าวว่า การจะซื้อหุ้นสักหนึ่งตัว นักลงทุนควรต้องดูทั้งปัจจัยพื้นฐานและกราฟเทคนิคควบคู่กันไป เพราะการดูกราฟย้อนหลังจะทำให้เห็น Demand และ Supply ของหุ้นในอดีต ที่สำคัญจะเห็นจุด “นิวไฮ” ของหุ้นด้วย

“สิ่งหนึ่งที่ผมไม่เหมือนนักลงทุนหุ้นคุณค่าทั่วไปคือ ผมยอมรับการขาดทุนได้บ้าง แต่ถ้าเป็นนักลงทุน VI แท้ๆ ต้องไม่มีคำว่า Cut Loss (ตัดขาดทุน) แต่ผมคิดแบบนั้นไม่ได้ตราบใดที่ยังชื่นชอบการเล่นหุ้นคอมมูนิตี้ (สินค้าโภคภัณฑ์) ที่สำคัญนักลงทุน VI จะไม่ดูกราฟดูปัจจัยพื้นฐานอย่างเดียว เขามองว่าดูกราฟเหมือนมองกระจกหลัง มันเกิดขึ้นไปแล้ว ไม่สามารถสะท้อนธุรกิจในปัจจุบันหรือในอนาคตได้”

สำหรับเทคนิคการลงทุนฮงจะเน้นดูปัจจัยพื้นฐาน 70% อีก 30% จะดูเทคนิเคิล และกราฟหุ้นย้อนหลัง หลายครั้งเขาบอกว่ากราฟหุ้น “ช่วยชีวิต” ไว้ ทำให้ไม่ต้อง “ขายหมู” (ขายถูก) ให้คนอื่น โดยเขายอมลงทุนเสียเงินปีละ 20,000 บาท ติดตั้งโปรแกรม APEX เพื่อดูกราฟราคาหุ้นโดยเฉพาะ

ยกตัวอย่างผลดีจากการดูกราฟ เช่น ราคาหุ้นทำนิวไฮ 10 บาท อยู่ดีๆ ลงมา 8-9 บาท แล้วซื้อขาย 8-9 บาทนานพอสมควร อยู่ๆ ก็วิ่งขึ้นไป 10 บาท โดยมีวอลุ่มเข้ามาเยอะมาก เหตุการณ์ลักษณะนี้ทำให้คิดได้ว่าบริษัทนี้ต้องมีอะไรเปลี่ยนแปลง “ผมก็จะเริ่มตรวจสอบข้อมูลทันที” บางครั้งฮงเริ่มแกะรอยจากหุ้นที่มี “วอลุ่มผิดสังเกต” จากนั้นก็จะคัดเลือกหุ้นที่ “สวย” (ผลประกอบการดีที่สุด) เข้าพอร์ต

สิ่งแรกที่ต้องทำคือการเลือกหุ้นที่ “เพิ่งทำจุดสูงสุดใหม่ของกำไร” และต้องอ่านเกมต่อไปว่า “ไตรมาสที่เหลือ” ของปีนั้นๆ ต้องสามารถรักษากำไรสุทธิระดับนี้(ดี) ได้ต่อเนื่อง ขั้นตอนจากนั้น ต้องเลือกหุ้นที่สามารถสร้างผลตอบแทนจากเงินปันผลประมาณ 6-7% ต่อปี และข้อสุดท้าย ต้องเลือกหุ้นที่ซื้อขายต่ำกว่า P/E ของกลุ่ม…เหล่านี้คือคุณสมบัติเบื้องต้นของหุ้นที่จะสร้างผลตอบแทนได้สูงจากการลงทุน

เมื่อได้หุ้นที่เข้าข่ายกำไรสุทธิทำจุดสูงสุดใหม่ จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ และค่า P/E ไม่สูง (ราคาหุ้นยังไม่แพง) ได้แล้ว ฮงก็จะเริ่มปฏิบัติการวิเคราะห์เจาะลึก “งบการเงิน” ทันที โดยเน้นหนักไปที่ “กระแสเงินสด” ของกิจการ พยายามดูย้อนหลังให้ได้มากที่สุด

โดยเฉพาะในส่วนของความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดของกิจการ (EBITDA) ต้องมีตัวเลขใกล้เคียงกับกำไรสุทธิ ขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ต้องไม่เกิน 1 เท่า และควรเป็นหนี้สิน (หมุนเวียน) ที่ไม่มีดอกเบี้ย
เท่านั้นยังวางใจไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ ฮงจะทำการวิเคราะห์ “โครงสร้างธุรกิจ” ผลิตภัณฑ์ตัวไหนที่ทำกำไรให้บริษัท รวมทั้งอ่านบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ต่างๆ ที่เขียนถึงหุ้นตัวนี้ รวมทั้งค้นหาบทสัมภาษณ์ของผู้บริหารมาอ่านเพื่อให้แน่ใจว่าหุ้นที่จะวางเดิมพันราคาต้อง “วิ่ง” ชัวร์!

“ผมจะอ่านบทวิเคราะห์ต่างๆ ที่โบรกเกอร์ส่งมาในอีเมล์ทุกเช้า รวมถึงอ่านบทสัมภาษณ์ผู้บริหารเพื่อให้เห็นทิศทางของบริษัท ส่วนใหญ่จะใช้เวลาศึกษาหาข้อมูลก่อนตัดสินใจลงทุนเพียง 2 วัน”

เมื่อหาข้อมูลครบถ้วนแล้วก็จะเริ่มทำ “ประมาณการผลประกอบการล่วงหน้า” เพื่อประเมินราคาที่เหมาะสมในอนาคต สำหรับวิธีการเข้าเก็บหุ้นจะใช้สูตร 30:30:30:10 ซื้อแล้วหุ้นขึ้นถึงซื้อ “สเต็ปที่สอง” “สเต็ปที่สาม” และ “สเต็ปที่สี่”
หมายความว่าซื้อครั้งแรก 30% สเต็ปที่สอง (อีก 30%) จะซื้อเพิ่มก็ต่อเมื่อราคาหุ้นขยับตัวเพิ่มขึ้น 7-8% ถ้าซื้อ 30% แรกแล้วราคาไม่ขึ้นก็จะรอไปก่อน “ยังไม่ซื้อ” ตรงกันข้ามถ้าซื้อแล้ว 30% ราคาหุ้นปรับตัวลดลง 8% ก็จะ Cut Loss (ตัดขายขาดทุน) ทิ้งทันที ถ้าทิ้งไว้นานเดี๋ยว “ออก(ของ)ไม่ได้”

เทคนิคที่ทำให้พอร์ตโตเร็ว 20 เท่า ภายในระยะเวลา 2 ปี (2552-2553) เวลาตลาดหุ้นอยู่ในภาวะ “กระทิง” หรือ “ขาขึ้นใหญ่” และมั่นใจหุ้นสุดๆ เขาจะใช้ “เงินกู้มาร์จิน” เพิ่มพลังบวกให้กับพอร์ต

ทุกวันนี้ศูนย์บัญชาการของฮงอยู่ที่บ้านแล้วสั่งซื้อขายทางอินเทอร์เน็ต ที่บ้านย่านพระราม 2 จะกั้นห้องไว้สำหรับนั่งดูหุ้นโดยเฉพาะภายในมีทีวี LCD 60 นิ้วตั้งอยู่กลางห้อง กิจวัตรประจำวันฮงจะตื่นนอนมานั่งในห้องนี้ตั้งแต่ 9 โมงเช้าแล้วอ่านข้อมูลทุกอย่างเริ่มตั้งแต่บทวิเคราะห์ หนังสือพิมพ์ เข้าเว็บบอร์ด Thaivi.org เหตุที่ซื้อขายผ่านอินเทอร์เน็ตเพราะเสียค่าคอมมิชชั่นเพียง 0.1% ถ้าโทรศัพท์สั่งผ่านมาร์เก็ตติ้งต้องจ่าย 0.15% (รายย่อยต้องจ่าย 0.25%)

“โดยปกติผมจะปรับพอร์ตลงทุนทุกไตรมาส (3 เดือน) เพราะสถานการณ์มักมีการเปลี่ยนแปลง ทุกครั้งที่งบการเงินประจำไตรมาสออก ผมจะนำข้อมูลที่ผู้บริหารบอกผ่านสื่อกับบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์มานั่งคำนวณตัวเลขผลประกอบการในไตรมาสถัดไป”

อีกหนึ่งปัจจัยความสำเร็จฮงจะ “เล่นหุ้นเป็นกลุ่ม” ประมาณ 7-8 คน เทคนิคการเล่นจะคล้ายๆ กัน พวกเขานัดเจอกันที่ “สโมสรทหารบก” ทุกๆ 2 สัปดาห์ ไม่วันเสาร์ก็วันอาทิตย์ เว้นว่าช่วงไหนตลาดหุ้นดีๆ ก็จะเจอกันสัปดาห์ละครั้ง กิจกรรมที่ทำจะเช่าห้องฉายโปรเจ็คเตอร์เพื่อแชร์ข้อมูลกัน คนไหนถนัดดูกราฟก็จะมาบอกว่าเส้นกราฟเทคนิคหุ้นตัวไหนสวย ใครถนัดพื้นฐานก็จะนำข้อมูลมาเล่าสู่กันฟัง

ส่วนการซื้อขายแต่ละคนจะตัดสินใจเอาเองไม่ค่อยบอกกัน ถ้ามีหุ้นตัวไหนเข้าตาฮงชอบสั่งซื้อหุ้นวันจันทร์ ซื้อเสร็จไม่เคยกำหนดว่าต้องถือยาวหรือสั้น ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์จะเป็นตัวบอก แต่เขาจะเตือนตัวเองเสมอว่า “เล่นหุ้นต้องเล่นแบบ “ไร้ใจ” ถ้าใช้อารมณ์เล่นหุ้น (รัก-โลภ-โกรธ-หลง) มีโอกาสขาดทุนสูง ผมจะพยายามคิดเสมอว่าหุ้นตัวนี้ไม่ใช่ญาติเรา ไม่รัก ไม่เกลียด”

ในยามที่ตลาดหุ้นไม่น่าไว้วางใจฮงจะเล่นหุ้นด้วยบัญชีเงินสด ปัจจุบันซื้อขายประจำอยู่ที่ บล.เคทีซีมิโก้ ตามมาร์เก็ตติ้งคู่ใจย้ายมาจาก บล.พัฒนสิน

ล่าสุดในพอร์ตมีหุ้นอยู่ 3 ตัว ได้แก่ BCP ต้นทุน 21 บาท มองว่าหุ้นบางจากราคายังต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานมาก ถ้าผลประกอบการไตรมาส 2 ออกมาสวยเหมือนไตรมาสแรก ก็อาจปรับราคาเป้าหมายขึ้นไปอีก บางจากถือเป็นหุ้นโรงกลั่นตัวเดียวที่มีค่า P/BV ต่ำที่สุด

อีกตัวที่ลงทุนอยู่คือหุ้น HEMRAJ ซื้อมาได้เดือนกว่าๆ แล้ว ต้นทุนแถว 2.10 บาท ชอบเพราะปี 2555 จะมีรายได้จากธุรกิจโรงไฟฟ้าทำให้บริษัทมีความมั่นคงมากขึ้น และหลังเกิดสึนามิทำให้ญี่ปุ่นต้องย้ายฐานการผลิตมาเมืองไทย เหมราชก็จะได้ประโยชน์

ตัวสุดท้ายที่ลงทุนคือหุ้น CENTEL ตัวนี้ต้นทุน 7.30 บาท เก็บเพราะเห็นว่าผลประกอบการในไตรมาส 1 ปีนี้พลิกจากปี 2553 ขาดทุน 51 ล้านบาท มาเป็นกำไรสุทธิ 400 ล้านบาท ถือเป็นการทำนิวไฮในรอบ 5 ปี เพราะธุรกิจอาหารเติบโตมากขึ้น ธุรกิจโรงแรมก็ยังขยายตัวได้ดีอัตราการเข้าพักเพิ่มจาก 50-60% เป็น 70%

นอกจากหุ้นทั้ง 3 ตัวนี้แล้ว หุ้นตัวอื่นๆ ฮงบอกว่า ตอบตรงๆ ตอนนี้ยังหาตัวที่ถูกใจไม่เจอเลย วันนี้ยอมรับว่าสนใจลงทุนหุ้นต่างประเทศ แต่ยัง “เล่นยาก” เคยถามคนที่ลงทุน “หุ้นจีน” เขาบอกว่า “น่ากลัวมาก” บริษัทจีนมีการลงบัญชีไม่ค่อยโปร่งใสถ้าสุ่มสี่สุ่มห้ามีหวังขาดทุน ถ้ามีประสบการณ์แล้วเดี๋ยวจะมาเล่าให้ฟังอีกครั้ง

ถามว่าเคยคิดอยากเป็นเจ้าของบริษัทจดทะเบียนหรือไม่ เด็กหนุ่ม ตอบว่า แม้การซื้อหุ้นคือ “การซื้อธุรกิจ” แต่ไม่ได้หมายความว่าอยากเข้ามาบริหาร “ผมไม่คิดที่จะ “ผูกพัน” กับหุ้นตัวไหน แค่ต้องการเข้ามา “เสพสุข” (จากกำไร) เท่านั้น ได้ตามเป้าหมายแล้วก็จะไป”

ฮงเล่าว่า ตลาดหุ้นสมัยนี้คนอายุ 22-23 ปีขึ้นไป เข้ามาเล่นหุ้นกันค่อนข้างมาก จบปริญญาโทมาเล่นหุ้นก็มีเยอะ ส่วนตัวอยากแนะนำ “มือใหม่ที่เพิ่งหัดคลาน” ว่า ควรเริ่มลงทุนด้วยเงิน “ก้อนเล็กๆ” ก่อนสัก 100,000 บาท หากยังไม่รู้เรื่องอะไรเลย แล้วหุ้นที่ใช้ “ฝึกมือ” ควรเป็นพวกหุ้น “โรงไฟฟ้า-ค้าปลีก” เพราะธุรกิจเข้าใจง่าย ราคาหุ้นไม่ผันผวนมาก เมื่อมีประสบการณ์แล้วก็ค่อยขยับมาเล่นหุ้นยากๆ อย่างกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งหุ้นพวกนี้ถ้าจับจังหวะถูกจะได้กำไรเยอะ (รวยเร็ว)

“หุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ ผมจะถนัดกลุ่มอุตสาหกรรมประเภทแผ่นฟิล์ม สินค้าเกษตร กลุ่มอื่นๆ ยอมรับว่ายังไม่ค่อยชำนาญ”

ฮงย้ำว่า ข้อผิดพลาดของนักลงทุนจำนวนมากชอบซื้อหุ้นตามคำแนะนำของเพื่อน หรือซื้อตามโบรกเกอร์โดยที่คุณไม่รู้ข้อมูลอะไรเลย เท่าที่พบ 90% จะขาดทุน คนที่จะทำกำไรจากตลาดหุ้น (ยุคนี้) ต้องศึกษาหาความรู้ รู้ทุกซอกทุกมุมของหุ้น

“ผมโชคดีที่เล่นหุ้นตั้งแต่เรียนปี 1 ม.กรุงเทพ กว่าจะจับจุดได้ (รู้ความลับตลาดหุ้น) ใช้เวลานาน 2-3 ปี ผมจะยึดอาชีพนักลงทุนเลี้ยงตัวเองไปเรื่อยๆ ตั้งแต่เรียนจบก็ไม่เคยไปทำงานบริษัท ทุกวันนี้ผมมีเงินทำอะไรได้หลายๆ อย่าง อย่างที่เพื่อนๆ ไม่มี” เซียนหุ้นวัยเบญจเพส กล่าวทิ้งท้าย

เครดิต : เนชั่นกรุ๊ป